หน้าที่และความรับผิดชอบ

              1. จัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ให้สอดคล้องกับขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยฯ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยฯ และมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
              2. สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการควบคุมภายใน กระบวนการบริหารความเสี่ยง และกระบวนการกำกับดูแลที่ดี รวมถึงระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตของมหาวิทยาลัยฯ และระบบการรับแจ้งเบาะแส ของมหาวิทยาลัยฯ
              3. สอบทานให้มหาวิทยาลัยฯ มีการรายงานการเงินอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ
              4. สอบทานการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน รวมทั้งข้อกำหนดอื่นของมหาวิทยาลัยฯ
              5. กำกับดูแลระบบงานตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยฯ ให้มีความเป็นอิสระเพื่อพัฒนา   การปฏิบัติงานในหน้าที่
              6. พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือมีโอกาสเกิดการทุจริตที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยฯ
              7. ให้ข้อเสนอแนะการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และประเมินผลงานของผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในต่อสภามหาวิทยาลัยฯ ทั้งนี้ อาจให้อธิการบดีมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยก็ได้
              8. ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นชอบเกี่ยวกับผลการตรวจสอบและเรื่องอื่น ๆ และอาจเสนอแนะให้สอบทานหรือตรวจสอบรายการใดที่เห็นว่าจำเป็น รวมถึงเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีต่อสภามหาวิทยาลัยฯ
              9. รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ประกอบด้วยการรายงานต่อสภามหาวิทยาลัยฯ และการรายงานต่อบุคคลภายนอก ทั้งนี้ การรายงานต่อบุคคลภายนอกให้รายงานในรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัยฯ หรือเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยฯ
ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นชอบ โดยประธานกรรมการตรวจสอบเป็นผู้ลงนามในรายงานดังกล่าว และมีเนื้อหาอย่างน้อย ดังนี้
                    ก. ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตของมหาวิทยาลัยฯ
                    ข. ความเห็นเกี่ยวกับการควบคุมภายในด้านการเงิน
                    ค. จำนวนครั้งในการจัดประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบฯ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละราย
              10. ประเมินผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคของสำนักงานตรวจสอบภายใน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในและศักยภาพของผู้ตรวจสอบภายในของสำนักงานตรวจสอบภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งต่อสภามหาวิทยาลัยฯ
              11. ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด หรือสภามหาวิทยาลัยฯ มอบหมาย